วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ศาสนาฮินดูมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมากกว่า ๓,๐๐๐ ปี เป็นศาสนาที่ไม่มีศาสดาเป็นผู้ประกาศศาสนา เป็นศาสนาของชาวอารยะ (ภาษาบาลีเรียกว่าชาวอริยกะ) ซึ่งเชื่อกันว่าอพยพมาจากยุโรป เข้ามาสู่อินเดียเมื่อราว ๓,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ชาวฮินดูเชื่อว่าศาสนาฮินดูสืบทอดมาจากคัมภีร์พระเวทซึ่งเชื่อว่าฤๅษีในสมัยก่อนได้รับ โดยตรงจากพระเป็นเจ้าจึงมีชื่อเรียกรวมๆว่า คัมภีร์ศรุติ จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้เราทราบว่าชาวพื้นเมืองเดิมที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นเจ้าของวัฒนธรรมซึ่งเรียกกันว่า อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (ราว ๒๐๔๗-๑๓๕๗ปี ก่อน พ.ศ.) เป็นอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองเพราะมีการสร้างเมืองที่มีผังเมืองเป็นระเบียบ ประชาชนมีการอาบน้ำตามพิธีทางศาสนาเคารพบูชาเทพเปลือยกายที่มีเขาและมีสัตว์แวดล้อม กราบไหว้เทพที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ นับถือสัตว์คล้ายวัวมีเขาหนึ่งเขา ศาสนาของชาวพื้นเมืองเดิมแตกต่างจากศาสนาของชาวอารยะที่อพยพเข้ามาในภายหลังที่มาตั้งรกรากยุคแรกๆที่ลุ่มแม่น้ำสินธุ  ชาวอารยะยุคแรกๆเคารพนับถือเทพหลายองค์ที่เป็นพลังอยู่เบื้องหลังธรรมชาติซึ่งยังไม่มีรูปร่างแบบรูปร่างมนุษย์อย่างชัดเจนเหมือนเทพในศาสนาฮินดูยุคหลัง ยุคที่ชาวอารยะเข้ามานั้นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุได้ล่มสลายไปแล้ว แต่ศาสนาของชาวพื้นเมืองเดิมก็ยังคงมีผู้นับถือต่อมาและได้มีอิทธิพลต่อศาสนาของชาวอารยะในสมัยหลัง 
               ชาวอารยะยุคแรกๆมีคัมภีร์ทางศาสนาเรียกว่าคัมภีร์พระเวทซึ่งใช้ภาษาสันสกฤต มี ๓ เวท คือ
1. ฤคเวท
2. สามเวท 
3. ยชุรเวท 
               ฤคเวทเป็นคัมภีร์ทางศาสนาที่เก่าที่สุดในโลกแต่งขึ้นเมื่อระหว่าง๙๕๗-๒๔๗ ก่อน  พ.ศ. โดย ประมาณ  ต่อมา มี อถรวเวท เพิ่มเข้ามารวมเป็น ๔  เวท  ศาสนาฮินดูในปัจจุบันแม้จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากศาสนาของชาวอารยะยุคแรกๆแต่ชาวฮินดูก็ยังถือว่าคัมภีร์พระเวทเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และเป็นต้นตอของศาสนาฮินดู พัฒนาการไปสู่ความเป็นศาสนาฮินดูผ่านทางคัมภีร์ต่างๆในสมัยต่อมา คือ คัมภีร์พราหมณะ คัมภีร์อารัณยกะ คัมภีร์อุปนิษัท คัมภีร์รามายณะ (รามเกียรติ์) คัมภีร์มหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะ และยังอาศัยหลักปรัชญา ๖ ทรรศนะ ได้แก่ นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ โยคะ และเวทานตะ (ปูรวมิมางสา และอุตตรมิมางสา) ศาสนาฮินดูแบ่งเป็นสองนิกายใหญ่ คือ ไศวะนิกาย คือ นิกายที่ถือว่าพระศิวะเป็นพระเจ้าสูงสุดและ ไวษณวนิกาย คือ นิกายที่นับถือว่า พระวิษณุเป็นพระเจ้าสูงสุด พระเป็นเจ้าทั้งสององค์นั้นเป็นพระเป็นเจ้าที่เป็นตัวบุคคล แต่อยู่ในลักษณะที่เหนือโลก แต่เมื่อพระองค์ต้องการจะมาเกี่ยวข้องกับโลก พระองค์ก็จะปรากฏในรูปของพระพรหมาเพื่อทำการสร้างโลก ในรูปของพระวิษณุ เพื่อรักษาคุ้มครองโลกและในรูปของพระ ศิวะ เพื่อทำลายล้างโลกเมื่อถึงยุคประลัย พระเป็นเจ้าองค์เดียวแต่รวมลักษณะทั้งสามนี้ไว้ เรียกว่า ตริมูรติ (ตฺริ= สาม มูรฺติ=รูป)
               ศาสนายุคพระเวทเน้นการบูชาเทพในธรรมชาติ ด้วยของสังเวยที่เป็นอาหาร เครื่องสังเวยที่สำคัญได้แก่เนยใส ที่จะต้องราดลงไปในไฟเพื่อให้ไฟลุก เมล็ดพืชที่เป็นอาหาร และโสมะ (เครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมาที่คั้นจากพืชชนิดหนึ่ง) เทพที่สำคัญได้แก่ อินทระ ซึ่งเป็นเทพแห่งสงครามและเทพแห่งฝน อัคนิ คือ ไฟ  มรุต คือลม สูรยะ คือ พระอาทิตย์ รุทระเทพแห่งพายุ ยุคอุปนิษัทซึ่งช่วงสุดท้ายของยุคพระเวทถือว่าเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เป็นยุคที่มีความคิดทางปรัชญาเกิดขึ้น คัมภีร์ที่สำคัญ ได้แก่ ฉานโทคยะอุปนิษัท หฤหทารัณยกะอุปนิษัท กฐะ อุปนิษัท มุณฑกะอุปนิษัท เป็นต้นยุคนี้เน้นปรัชญามากกว่า พิธีกรรม  เน้นการแสวงหา สัจธรรมสูงสุดเพื่อ โมกษะ คือ ความหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นสาเหตุของความทุกข์สิ่งมีอยู่จริงหรือสัจธรรมสูงสุดในช่วงอุปนิษัท คือ พรหม ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า อาตมัน ซึ่งคือคำเดียวกับ อัตตา ในภาษาบาลี พรหมนี้บางทีก็เรียกว่า ปรมาตมัน บางที่ก็เรียกว่า  สัต พรหม เป็นสิ่งเที่ยง ไม่ตาย มีอยู่ชั่วนิรันดร เป็นตัวชีวะ (ชีวิต) ในสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง เมื่อร่างกายตาย ตัว ชีวะ หรือ อาตมัน จะไม่ตาย จะเข้าร่างใหม่เรื่อยไปจนกว่าตัวชีวะนั้นจะได้โมกษะ คือ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พรหม ในช่วงอุปนิษัท ไม่ใช่ พรหมา ซึ่งเป็นพระพรหมาที่มาทำหน้าที่สร้างโลก ซึ่งเป็นหนึ่งใน ตริมูรติ ของศาสนาฮินดู พระพรหมา เป็นเทพเกิดขึ้นใน ยุครามายณะ และยุคมหาภารตะ เป็นต้นมา 
               ความเชื่อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นช่วงอุปนิษัทก็ คือ ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดหรือ สังสาระ และเชื่อเรื่องกรรม ซึ่งความเชื่อนี้อาจจะเกิดขึ้นจากการประสมประสานความเชื่อของชาวอารยะกับความเชื่อของชาวพื้นเมืองเดิม
หลักคำสอน
               จุดมุ่งหมายของชีวิตตามแนวทางของศาสนาฮินดูมี ๔ ประการ คือ
 ๑. อรถะ หรือ อรรถะ การแสวงหาทรัพย์เพื่อการดำรงชีวิต ภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนา
๒. ธรมะ หรือ ธรรมะ การดำรงชีวิตภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนา
๓. กามะ  การแสวงหาความสุขทางโลก ภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนา
๔. โมกษะ ในที่สุดต้องแสวงหาความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
               จะเห็นว่าจุดมุ่งหมาย ๓ ข้อแรกต้องการให้ศาสนิกดำรงชีวิตทางโลกเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคลแต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนาของตน แต่เมื่อมีความสุขอย่างมีศีลธรรมในระดับโลกแล้วศาสนิกจะต้องแสวงหาเป้าหมายอันสุดของชีวิตคือ โมกษะ คือ ความพ้นไปจากการตายแล้วเกิดๆ ซึ่งเป็นผลของกรรมหรือการกระทำทุกอย่างในโลก ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าทุกอย่างในโลกเป็นสิ่งไม่คงอยู่ชั่วนิรันดร อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติที่ว่า เกิดขึ้น คงอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ในที่สุดก็สูญสลายไป สิ่งที่เป็นนิรันดร คือ ความจริงสูงสุดหรือพระเป็นเจ้า ซึ่งเราจะรู้ได้เมื่อเข้าถึงโมกษะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น