ปรัชญาอุปนิษัท ตอนที่ ๑
ตอนที่ ๓
ปรัชญาอุปนิษัท
๓.๑ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคัมภีร์อุปนิษัท
คัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ที่เรียกว่าว่าพระเวท หรือไตรเพทนั้น แต่ละคัมภีร์ จะแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ดังนี้
๑. มันตระ คือส่วนที่เป็นบทสวดสรรเสริญเทพต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในรูปของโศลก หรือร้อยกรอง เทียบกับของพระพุทธศาสนา น่าจะได้แก่บทสวดมนต์ที่พระสงฆ์ใช้สวดในโอกาสต่าง ๆ
๒.พราหมณะ คือส่วนที่เป็นคำอธิบายสำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อาจจะเรียกว่าเป็นคู่มือพราหมณ์ก็ได้ เทียบกับพระพุทธศาสนาน่าจะได้แก่ส่วนที่เรียกว่า ศาสนพิธี
๓. อารัณยกะ คือส่วนที่เป็นคู่มือใช้สำหรับการอยู่ป่า ส่วนนี้ถือว่าเป็นภาคผนวกของคัมภีร์พราหมณะ เป็นส่วนที่อธิบายความหมายของพิธีกรรมอีกชั้นหนึ่ง
๔. อุปนิษัท คือส่วนที่เป็นคำอธิบายความรู้สึกนึกคิดทางปรัชญา ไม่เกี่ยวข้องกับบทสวด หรือพิธีกรรมดังกล่าวข้างต้น คัมภีร์นี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์นอกเหนือจากพิธีกรรมดังกล่าวข้างต้น มุ่งแสวงหาคำอธิบายที่จะทำให้คนเข้าถึงความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อุปนิษัทจึงเหมือนต่อแทนของคนชั้นปัญญาชนที่มุ่งแสวงหาความหมาย หรืออุดมการณ์ของชีวิต
คำว่า อุปนิษัท ตามรากศัพท์มาจากคำว่า อุป+นิ+ษทฺ มีความหมายว่า อุป มีความหมายว่า ใกล้, นิ มีความหมายว่า อย่างเอาใจใส่,อย่างทุ่มเท ส่วนคำว่า ษทฺ มีความหมาย ๓ ประการ ได้แก่ ๑) นั่งลง ๒) ทำลาย และ ๓) ปลดเปลื้อง,ปลดปล่อย รวมความ อุปนิษัท หมายถึง การเข้าไปนั่งใกล้ของศิษย์ด้วยท่าทีแห่งความตั้งอกตั้งใจเพื่อรับการถ่ายทอดสัจธรรมสูงสุด ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายหรือตัดข้อสงสัยทั้งปวงให้หมดไปจากจิตใจ[1]
อนึ่ง เอ็ม หิริจันนะ (M.Hiriyanna) ได้กล่าวแนะนำคัมภีร์อุปนิษัทโดยสรุปดังนี้
“คำว่าอุปนิษัท หมายถึง คำสอนลึกลับ (รหัสยะ) หรือคำสอนที่สงวนสิทธิ์มิให้ผู้ที่ไม่เหมาะรู้ และสอนกันเป็นส่วนตัวแก่นักศึกษาที่มีอุปนิสัยพากเพียร คำสอนนี้ได้ปรับปรุงเรื่อยมาเป็นคัมภีร์อุปนิษัททั้งที่มีจำนวนมาก[2] แต่มีประมาณสิบสองคัมภีร์คัมภีร์เท่านั้นที่จัดว่าเป็นส่วนของพระเวทที่แท้จริง ส่วนที่เหลือเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมในชั้นหลัง และมีคุณค่าด้อยกว่าของเดิม คัมภีร์อุปนิษัทดั้งเดิม แสดงถึงความเบ่งบานแห่งแนวคิดสมัยพระเวท รจนาเป็นร้อยแก้ว มีลำนำแต่ไม่มีจังหวะอย่างฉันท์ ทั้งมีลักษณะเป็นดนตรีอยู่ในตัวของมันเอง ผู้อ่านแม้จะไม่คุ้นเคยกับคำสอนก็สามารถเข้าใจไดไม่ยากนัก อิทธิพลของคำสอนจากคัมภีร์นี้เด่นมาก”[3]
บรรดาอุปนิษัทที่ถือว่าเป็นส่วนของพระเวทอย่างแท้จริง ๑๐ คัมภีร์ และถือว่า ทั้ง ๑๐ คัมภีร์นี้เป็น “ศรุติ” มีดังนี้[4]
๑. อีษา อุปนิษัท "ผู้ปกครองภายใน" (ศูกล ยชุรเวท)
๒. เกนะ อุปนิษัท "ใครย้ายโลก" (สามเวท)
๓. กถะ อุปนิษัท "ความตายเป็นครู" (กฤษณะ ยชุรเวท)
๔. ปรัสนะ อุปนิษัท "ลมหายใจของชีวิต" (อาถรรพเวท)
๕. มุณฑกะ อุปนิษัท "การรับรู้สองอย่าง" (อาถรรพเวท)
๖. มาณฑูกยะ อุปนิษัท "จิตสำนึกและช่วงต่าง" (อาถรรพเวท)
๗. ไตติรียะ อุปนิษัท "จากอาหาร สู่ปีติ" (กฤษณะ ยชุรเวท)
๘. ไอตเรยะ อุปนิษัท "ตัวตนและอาตมันของมนุษย์" (ฤคเวท)
๙. ฉานโทคยะ อุปนิษัท "บทเพลงและการสังเวย" (สามเวท)
๑๐. พฤหทารัณยกะ อุปนิษัท (ศูกล ยชุรเวท)
กล่าวโดยสรุป คัมภีร์อุปนิษัท เป็นคัมภีร์ตอนสุดท้ายของคัมภีร์พระเวท บรรดาแนวความคิดทางปรัชญาที่กระจัดกระจายอยู่ในมันตระ พราหมณะ และอรัณยกะของคัมภีร์พระเวท ได้รับการประมวลมากล่าวไว้ในอุปนิษัท[5] จากนั้นก็มีการอธิบายขยายเนื้อความแนวคิดทางปรัชญาเหล่านั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น การศึกษาปรัชญาแนวความคิดใด ๆ ในคัมภีร์พระเวท จึงขาดคัมภีร์อุปนิษัทไม่ได้ ทั้งนี้เพราะระบบปรัชญาสายอาสติกะทั้ง ๖ สำนัก ก็ล้วนอาศัยความไม่กลมกลืนกันในคัมภีร์อุปนิษัทดังกล่าว ทำให้เกิดการตีความ และอธิบายความตามมติของตน ๆ แตกต่างกันออกไป
๓.๒ ทฤษฎีความรู้แท้ของอุปนิษัท
ยุคพระเวทยกย่องความรู้ในคัมภีร์ การทรงจำคัมภีร์ได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนความรู้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ในคัมภีร์พระเวทเป็นสำคัญ ผลจากการยกย่องและให้ความสำคัญดังกล่าว ทำให้คนเริ่มก้าวออกห่างจากสารัตถะของพระเวท เพราะมัวแต่ไปสนพิธีกรรม สังคมจึงถูกหล่อหลอมไปด้วยลัทธิ ประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรม ซึ่งเป็นเรื่องเปลือกนอก
อุปนิษัทจึงเป็นเหมือนตัวแทนของปฏิกิริยาที่มีต่อการยกย่อง สรรเสริญพิธีกรรมเหล่านั้น โดยการประกาศจุดยืนว่า พิธีกรรมต่าง ๆ ไม่เพียงพอสำหรับนำพามนุษย์ไปสู่วิถีแห่งความรู้แจ้ง และความหลุดพ้น การรู้แจ้งในพรหมันต่างหาก ที่จะทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เหตุนั้นในคัมภีร์อุปนิษัท จึงมีร่องรอยของการกระแนะกระแหน ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมอย่างตรงไปตรงมา ขอให้พิจารณาข้อความจากคัมภีร์อุปนิษัทดังต่อไปนี้
“พวกคนโงที่เต็มไปด้วยอวิชชาทั้งปวงก็คล้ายกับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ย่อมคิดว่า เราได้บรรลุสมดังที่เรามุ่งมาดปรารถนาแล้ว โดยเหตุที่ผู้ประกอบยัญพิธีมิได้เข้าใจสัจธรรมโดยถ่องแท้ เพราะอำนาจตัณหานั่นเอง เพราะฉะนั้น พวกเขาซึ่งเป็นคนเคราะห์ร้าย จึงต้องจุติจากสวรรค์ ในเมื่อกุศลกรรมที่ทำให้เขาบังเกิดในโลกที่สูงส่งนั้นหมดสิ้นลง
พวกที่โง่เขลาซึ่งเห็นว่ายัญพิธีและกุศลกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดแล้ว ก็มิได้ทราบคุณความดีทางด้านจิตใจที่สูงยิ่งกว่านั้นชนิดอื่นได้เลย เมื่อพวกเขาเสวยสุขอยู่ในสรวงสวรรค์ เพราะอำนาจอกุศลกรรม (การบูชายัญเป็นต้น) อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว เขาก็จะวกกลับมายังโลกนี้อีก หรืออาจกลับมาสู่โลกที่ต่ำกว่านี้ก็ได้
ผู้บำเพ็ญตบะ และมีศรัทธาในการอยู่ป่า เป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นสมาธิ เป็นผู้รู้สัจธรรม ดำเนินชีวิตแบบนักบวช ท่านเหล่านี้ที่พ้นจากตัณหาแล้ว ก็จะผ่านเข้าไปสู่ประตู่แห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่สถิตของปุรุษะซึ่งอมตะเป็นอาตมันที่ไม่รู้จักเสื่อมสลายนั้นได้
พราหมณ์เมื่อได้พินิจพิเคราะห์ดูโลกทั้งหลายที่จะเอาชนะได้ด้วยยัญพิธีแล้ว ก็ไม่ควรจะไปถึงอะไรเลย นอกจากความรังเกียจ โลกที่ไม่ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมานี้ เขาจะเอาชนะโดยอาศัยสิ่งที่ถูกทำขึ้นมา เช่น ยัญพิธีหาได้ไม่ เพื่อจะได้รับความรู้ เขาควรถือเชื้อเพลิงที่ใช้ในการบูชายัญในฐานะเป็นศิษย์ที่อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไปหาคุรุ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในคัมภีร์ และมีความมั่นคงในความรู้แจ้งพรหมัน
สำหรับผู้ที่เข้าไปหาคุรุในแบบที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น จิตใจของเขาจะสงบ เขาจะบรรลุถึงสันติสุข เข้าใจสิ่งที่คุรุสอนในเรื่องความรู้เกี่ยวกับพรหมัน ซึ่งเป็นสัจธรรมจริง ๆ ซึ่งโดยอาศัยวิธีนี้ เขาก็จะรู้จักปุรุษะที่ไม่รู้จักสูญสลาย คือ ความแท้จริงเท่านั้นได้[6]
“..ข้าพเจ้ามีความรู้เกี่ยวกับฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท แต่ความรู้ดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้ารู้เพียงมันตระ และตำราที่ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ข้าพเจ้าไม่รู้จักอาตมันตามความเป็นจริงเลย....”[7]
หรือ
“มีความรู้สองชนิดที่ควรจะรู้แจ้ง คือ ความรู้อย่างสูง (ปรวิทยา) และความรู้อย่างต่ำ (อปรวิทยา) ความรู้อย่างต่ำคือความรู้ที่ได้รับจากคฤเวท ยชุรเวท อถรรพเวท จากพิธีกรรม และจากการเรียนไวยากรณ์....ส่วนความรู้อย่างสูงนั้นได้แก่ความรู้เกี่ยวกับพรหมันอันเป็นอมฤต”[8]
จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น ทำให้เราเห็นจุดยืนที่แตกต่างระหว่างยุคพระเวท กับยุคอุปนิษัทชัดเจน กล่าวคือ ยุคพระเวทน้ำหนักความสำคัญอยู่ที่ตัวคัมภีร์และพิธีกรรม ขณะที่ยุคอุปนิษัทนั้นให้ความสำคัญที่ตัวแก่นแท้ของอมฤตธรรม และความรู้ที่ทำให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าว ถือว่าเป็นความรู้ที่แท้จริง ส่วนความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ ตลอดถึงพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นแต่เพียงเปลือกนอก
จุดยืนดังกล่าวนี้ ทำให้นึกถึงประเด็นของพระพุทธศาสนา ในช่วงสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีพระเถระรูปหนึ่ง ทรงจำปิฎกได้เป็นจำนวนมาก เป็นคณาจารย์สั่งสอน มีลูกศิษย์มากมาย แต่มักจะได้รับการเรียกขานจากพระพุทธเจ้าว่า “โปฐิละ” ซึ่งมีความหมายว่า “คัมภีร์เปล่า”[9] สะท้อนให้เห็นว่า หลักการของพระพุทธศาสนาก็ได้ให้ความสำคัญในการเข้าถึงสัจธรรมมากกว่าการทรงจำพระไตรปิฎกแต่เพียงประการเดียว
๓.๓ คำสอนเรื่องอาตมัน-ปรมาตมัน
แนวความคิดเรื่องอาตมัน-ปรมาตมัน คล้าย ๆ กับแนวความคิดเรื่องปฐมธาตุของโลกในปรัชญาตะวันตก คือเป็นเรื่องของความพยายามในการอธิบาย หรือแสวงหาคำอธิบายถึงที่มาของโลก ตลอดสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก นอกเหนือไปจากคำตอบที่มีมาแต่เดิม ซึ่งยกภาระให้เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์โดยพระผู้เป็นเจ้า
การตั้งคำถามในยุคนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางปรัชญา ตะวันตกทำให้เกิดแนวความคิดเรื่องธาตุ และอะตอมในเวลาต่อมา ขณะที่ปรัชญาตะวันออก โดยเฉพาะอินเดีย มีการกล่าวถึงอณู ปรมาณู อาตมัน และปรมาตมัน
คำเหล่านี้ถือเป็นตัวแทนความคิดของมนุษย์ ที่ต้องการแสวงหาความกระจ่าง ซึ่งตามแบบฉบับปรัชญาตะวันออก ก็มักจะสนใจเรื่องชีวิต การกล่าวถึงอาตมัน และปรมาตมันก็ทำนองเดียวกัน
ในทัศนะของปรัชญาอุปนิษัท แก่นแท้ของมนุษย์ที่แท้จริงนั้นอยู่เหนือร่างกาย และชีวิตที่เรามองเห็นด้วยตา โดยเรียกแก่นแท้ของชีวิตนี้ว่า “อาตมัน” ซึ่งอาตมันนี้ มีต้นกำเนิด หรือถูกแบ่งภาคมาจากปรมาตมันอีกทอดหนึ่ง อาตมันนี้ “อยู่เหนือความชรา มรณะ ความเศร้าโศก ความหิว และความกระหาย มีตัณหาเป็นสัจธรรม มีความตั้งใจเป็นสัจธรรม”[10]
ถ้าจะถามต่อไปว่า อาตมันจริง ๆ คืออะไร ร่องรอยในคัมภีร์อุปนิษัทเองก็มีความพยายามในการอธิบาย โดยผูกเป็นเรื่องราวสนทนากันระหว่างพระประชาบดีกับพระอินทร์และพระวิโรจนะ
พระอินทร์และพระวิโรจนะเป็นผู้ผูกคำถามขึ้นมาว่า อาตมันคืออะไร และคำตอบแรกที่ได้รับจากพระประชาบดีก็คือ “ปุรุษะที่เราจะเห็นได้ในดวงตานั่นแหละคืออาตมัน”[11]
ความสงสัยได้อุบัติขึ้นในใจของพระอินทร์และพระวิโรจนะไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เราได้เห็นความพยายามในการที่จะอธิบายเกี่ยวกับอาตมันเรื่อย ๆ จากปากของพระประชาบดี คัดมาเป็นตัวอย่างประกอบการศึกษาดังต่อไปนี้
“แต่ผู้ที่เราเห็นอยู่ในน้ำ และในกระจกเงาล่ะ เขาเป็นใครกัน?”
พระประชาบดีตรัสว่า “ผู้ที่ท่านเห็นในที่ทั้งปวงเป็นผู้เดียวกันนั่นเอง” แล้วท้าวเธอก็ตรัสว่า “เมื่อมองดูตัวท่านเองในน้ำแล้ว อะไรก็ตามที่ท่านไม่เข้าใจเกี่ยวกับอาตมันแล้ว ก็จงบอกเราเถิด”
พระอินทร์และท้าวไวโรจนะก็มองดูตัวเองในน้ำ แล้วพระประชาบดีก็ตรัสถามว่า “ท่านเห็นอะไรเล่า?”
พระอินทร์และท้าวไวโรจนะทูลตอบว่า “ขอเดช พวกเราเห็นตัวเราเองทั้งหมด ซึ่งเป็นการสร้างรูปร่างของเราขึ้นมาใหม่ได้อย่างถูกต้องทั้งผมและเล็บทีเดียว”
แล้วพระประชาบดีก็ตรัสว่า “เมื่อได้ประดับประดาตัว ได้แต่งตัวและทำตัวให้เรียบร้อยแล้ว จงดูตัวเองในน้ำซิ”
เมื่อพระอินทร์และท้าววิโรจนะประดับประดาตัว แต่งตัวและทำตัวให้เรียบร้อยแล้ว ก็ทรงมองดูตัวเองในน้ำ แล้วพระประชาบดีก็ตรัสถามว่า “ท่านเห็นอะไรบ้าง?”
พระอินทร์และท้าวไวโรจนะทูลตอบว่า “เห็นเหมือนตัวเราเองที่ประดับประดาดีแล้ว แต่งตัวดีแล้ว และทำตัวให้เรียบร้อยแล้วขอรับ”
พระประชาบดีตรัสว่า “นั่นแหละคืออาตมันละ” “นั่นแหละคืออมตัยที่ไร้ความกลัว นั่นแหละคือพรหมัน” แล้วพระอินทร์และท้าวไวโรจนะก็จากไปด้วยจิตใจที่สงบ พระประชาบดีมองดูพระอินทร์และท้าวไวโรจนะทั้งปวงแล้วก็ทรงรำพึงว่า “เขากำลังจากไปโดยมิได้รู้แจ้งอาตมัน มิได้พบอาตมันเลย ใครก็ตามที่ยอมรับลัทธินี้ว่าเป็นที่สุด ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นทวยเทพหรืออสูรก็ตาม จะต้องพินาศทั้งสิ้น”
แล้วท้าวไวโรจนะที่มีจิตใจสงบก็ไปหาพวกอสูร และประกาศลัทธินั้นให้พวกอสูรฟังว่า “เราจะต้องทำตัวของเราเท่านั้นให้มีความสุข ควรรับใช้เฉพาะตัวเราเท่านั้น เมื่อทำตัวเท่านั้นให้มีความสุข เมื่อได้รับใช้ตัวเองแล้ว เราก็จะได้รับโลกทั้งสอง คือทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า เพราะฉะนั้นในที่นี้ แม้กระทั่งบัดเดี๋ยวนี้ พวกเขาก็พูดถึงผู้ที่ไม่ใช่ทายก ผู้ไม่มีศรัทธา ไม่ทำการบูชายัญว่านั้นแหละคืออสูรละ เพราะนี่เป็นคำสอนของพวกอสูร พวกเขาจะประดับประดาร่างกายของคนตายแล้วด้วยของหอม ดอกไม้ ฯลฯ ที่พวกเขาได้ขอมา ประดับด้วยเสื้อผ้าและเครื่องอลังการ เพราะพวกเขาคิดว่า โดยการปฏิบัติเช่นนี้ พวกเขาจะได้ชนะโลกหน้าต่อไป”
แต่ทว่าก่อนที่พระอินทร์จะไปถึงทวยเทพ ก็มองเห็นอันตรายนี้ว่า “ร่างกายนี้ เมื่อได้ประดับประดาแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นร่างกายที่ประดับประดาดีแล้ว ร่างนี้เมื่อแต่งให้ดี ก็ชื่อว่าเป็นร่างกายที่แต่งดีแล้ว ร่างนี้เมื่อทำให้เรียบร้อยแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นร่างกายที่ทำให้เรียบร้อยแล้ว ข้อนี้มีอุปมาฉันใด เมื่อร่างนี้มืดบอด เขาก็มืดบอดไปด้วย เมื่อร่างกายนี้พิการ เขาก็พลอยพิการไปด้วย เมื่อร่างกายนี้ไม่สมประกอบ เขาก็พลอยไม่สมประกอบไปด้วยมีอุปไมยฉันนั้น ความจริงเมื่อร่างกายนี้สูญสิ้นแล้ว อาตมันก็จะสูญสิ้นไปทันที ในร่างกายนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นมีอะไรดีเลย”พระอินทร์ก็ถือเชื้อเพลิงสำหรับยัญพิธีกลับไปหาพระประชาบดีอีก (พระอินทร์ได้ทูลพระประชาบดีให้ทรงทราบวัตถุประสงค์ของตน ซึ่งพระประชาบดีก็ทรงยอมรับความจริงนั้น และขอให้พระอินทร์อยู่เป็นศิษย์ต่อไปอีก ๓๒ ปี) พระอินทร์ได้อยู่เป็นศิษย์พระประชาบดีอีก ๓๒ ปี แล้วพระประชาบดีก็ตรัสกับพระอินทร์ว่า “ผู้ที่เคลื่อนไหวอย่างมีความสุขในความฝันนั่นแหละคืออาตมัน” “นั่นแหละคือผู้ที่เป็นอมตัยไร้ความหวาดกลัว นั่นแหละคือพรหมัน” แล้วพระอินทร์ผู้มีจิตสงบก็จากไป
แต่แล้ว ก่อนจะไปถึงทวยเทพ พระอินทร์ก็ทรงเห็นอันตรายนี้ว่า “ทีนี้ แม้ร่างกายนี้จะมืดบอด อาตมันที่อยู่ในความฝันก็มิได้มืดบอดไปด้วย แม้ร่างกายนี้จะพิการ แต่อาตมันที่อยู่ในความฝันก็หาได้พิการไปด้วยไม่ แม้ร่างกายนี้จะบกพร่อง แต่อาตมันที่อยู่ในความฝันก็หาได้บกพร่องไปด้วยไม่ เมื่อร่างกายนี้ถูกประหาร อาตมันก็มิได้ถูกประหารไปด้วยเลย อาตมันมิได้พิการไปพร้อม ๆ กับความพิการของร่างกายเลย แต่ตามที่เป็นอยู่นั้น พวกเขาได้ประหารอาตมัน มิได้เอาเสื้อหุ้มห่ออาตมัน เท่าที่เป็นจริง อาตมันได้เป็นผู้มีประสบการณ์ต่อสิ่งที่ไม่อาจลงรอยกันได้ ตามความเป็นจริง อาตมันก็ยังห้องไห้ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นว่าในอาตมันนี้จะมีอะไรดีบ้าง” (แล้วพระอินทร์ก็กลับไปเฝ้าพระประชาบดีด้วยวัตถุประสงค์นี้อีก พระประชาบดีก็ทรงยอมรับความจริงนั้น แต่ก็ขอให้พระอินทร์อยู่เป็นศิษย์อีก ๓๒ ปี) แล้วพระประชาบดีก็ตรัสกับพระอินทร์ว่า“ทีนี้เมื่อเขาตกอยู่ในความหลับสนิท อารมณ์เย็น จิตใจสงบ และไม่ทราบความฝันเลย นั่นแหละคืออาตมันละ” “นั่นแหละคือสิ่งที่เป็นอมตัยไร้ความกลัว นั่นแหละคือพรหมันละ” แล้วพระอินทร์ผู้มีจิตสงบก็จากไป
แต่แล้วก่อนที่จะไปถึงทวยเทพ พระอินทร์ก็ทรงมองเห็นอันตรายข้อนี้ว่า “ความจริง อาตมันนี้เมื่อตกอยู่ในความหลับสนิท จะไม่รู้จักตนเองในรูปว่า “ฉันคือเขาละ” เลย ทั้งไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ ณ ที่นี้ด้วย ความจริงอาตมันจะกลายเป็นสิ่งที่ได้สูญหายไปแล้ว ข้าพเจ้ามองไม่เห็นเลยว่า ในอาตมันนี้จะมีอะไรดีบ้าง” (พระอินทร์ก็หวนกลับไปเฝ้าพระประชาบดีอีกครั้งหนึ่ง พระประชาบดีได้ให้สัญญาว่าจะบอกความจริงขั้นสุดท้ายให้ หลังจากต้องอยู่เป็นศิษย์แล้วเป็นเวลาอีก ๕ ปี) พระอินทร์ได้อยู่เป็นศิษย์ของพระประชาบดีอีก ๕ ปี ดังนั้น จำนวนปีทั้งหมดจึงรวมได้ ๑๐๑ ปี ดังนั้น ประชาชนจึงได้กล่าวกันว่า ท้าวมัฆวาน (พระอินทร์ผู้ให้รางวัล) ได้อยู่เป็นศิษย์เพื่อศึกษาความรู้ที่ลึกลับกับพระประชาบดีเป็นเวลาถึง ๑๐๑ ปี แล้วพระประชาบดีก็ตรัสกับพระอินทร์ “ดูก่อนท้าวมัฆวาน ร่างกายนี้เป็นมตรรยจริง ๆ ร่างกายนี้ถูกความตายพิชิต แต่ร่างกายนี้ก็เป็นมูลฐานของอาตมันที่ไร้ร่าง ไม่ตาย ความจริงอาตมันเมื่ออยู่ในร่างกายจะถูกความทุกข์ ความสุขครอบงำ ความจริงนั้นมีความหลุดพ้นจากความสุขและความทุกข์สำหรับผู้ได้สังสรรค์กับร่างกายนี้ ลมก็เป็นสิ่งไม่มีร่าง เมฆ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งไม่มีรูปร่างทั้งนั้น ทีนี้ในฐานะที่สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากอวกาศภายนอก และได้ถึงแสงสว่างที่สูงสุดแล้ว แต่ละอย่างก็ปรากฏพร้อมกับรูปร่างของตนเองฉันใด อาตมันที่สงบนี้ที่เกิดมาจากร่างกายนี้แล้ว ได้ถึงแสงสว่างสูงสุดก็ปรากฏพร้อมกับรูปร่างของตนฉันนั้น อาตมันนั้นแหละคืออุตตมปุรุษ (บุรุษสูงสุด)ละ”[12]
แนวความคิดเรื่องอาตมัน หากจะอธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือ มนุษย์ในยุคนั้นเชื่อว่า มีสิ่งหนึ่งต่างหากจากร่างกาย แต่อาศัยอยู่ในร่างกาย สิ่งนี้เป็นสิ่งอมตะ ไม่รู้จักตาย ซึ่งตรงข้ามกับร่างกาย ดังนั้น เมื่อร่างกายเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา อาตมันดังกล่าวก็จะออกจากร่างกายไปแสวงหาร่างใหม่ ความตายจึงเปรียบเสมือนกับการเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่
แนวความคิดเรื่องอาตมัน นอกจากจะนำมาอธิบายเรื่องชีวิตแล้ว ในอีกมุมหนึ่ง อาตมันยังถูกนำไปอธิบายถึงปรากฏการณ์ทางวัตถุ โดยสะท้อนให้เห็นว่า สรรพสิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นเป็นรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดนั้นประกอบขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานอันเดียวกัน ในฉานโทคยะอุปนิษัทเรียกสิ่งนี้ว่า “สัต” และ “สัต” นี้ก็คืออาตมันนั่นเอง แนวความคิดเรื่องอาตมัน หรือ สัต ในปรัชญาอุปนิษัทนี้ จึงคล้ายกับแนวคิดเรื่องอะตอมในปรัชญาตะวันตก
ข้อความในฉานโทคยอุปนิษัท เล่าเรื่องราวเศวตเกตุกับบิดา
เนื้อความโดยย่อมีอยู่ว่า เศวตเกตุ ได้เดินทางไปศึกษาคัมภีร์พระเวทกับอาจารย์ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี อายุ ๒๔ ปี ก็สำเร็จการศึกษา ลาอาจารย์กลับบ้านด้วยความยิ่งยะโสว่าตนเป็นปราชญ์ จึงเป็นคนดื้อรั้นไม่ยอมฟังใคร
บิดาเห็นความผิดปกติเช่นนั้น ต้องการสอนลูกของตนเองให้ได้ทราบความจริง จึงถามคำถามขึ้นประโยคหนึ่งว่า
“ลูก ลูกรู้จักคำสอนที่ทำให้ได้ยินสิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ทำให้คิดสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน ทำให้เข้าใจสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนไหม?”
เจอคำถามนี้เข้า เศวตเกตุถึงกับงง ไม่เข้าใจสิ่งที่พ่อถามว่าหมายถึงอะไร ผู้เป็นพ่อจึงเฉลย
“ลูกรักของพ่อ โดยการเข้าใจดินเหนียวก้อนหนึ่ง เราก็จะเข้าใจสิ่งทั้งปวงที่ทำจากดินเหนียวได้ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมาได้ก็โดยอาศัยสัญนิยมแห่งคำพูดเท่านั้น มันเป็นเพียงชื่อเท่านั้นเอง ดินเหนียวอย่างนั้นเท่านั้นเป็นความจริงแท้ ข้อนี้ฉันใด ลูกรัก เพราะการเข้าใจแท่งเหล็กเพียงแท่งเดียว ก็จะเข้าใจสิ่งทั้งปวงที่ทำด้วยเหล็กได้ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะสัญนิยมแห่งคำพูดเท่านั้น มันเป็นเพียงชื่อเท่านั้นเอง เหล็กอย่างนั้นเท่านั้นเป็นความจริงแท้ ข้อนี้ฉันใด คำสอนนั้นก็เป็นฉันนั้นแหละลูกรักของพ่อ”[13]
“ลูกรักของพ่อ ในตอนเริ่มต้นโลกนี้เป็นเพียง “สัต” เท่านั้น เป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ไม่เป็นสอง ไม่ต้องสงสัยละ....สัตได้สร้างไฟขึ้นมา ไฟนั้นรำพึงว่า ขอให้เราเป็นสิ่งที่มากหลายเถิด ขอให้เราได้ให้กำเนิดเถิด ไฟได้สร้างน้ำขึ้นมา เพราะฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่บุคคลเกิดเศร้าโศกเสียใจ หรือมีเหงื่อไหลไคลย้อยขึ้นมาแล้ว จากไฟอย่างเดียวนั่นแหละที่ได้ก่อให้เกิดน้ำขึ้นมา น้ำนั้นได้รำพึงว่า ขอให้เราเป็นสิ่งที่มากหลายเถิด ขอให้เราได้ให้กำเนิดเถิด น้ำนั้นได้สร้างอาหารขึ้นมา เพราะฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่เกิดมีฝนตกลงมาก็จะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ จากน้ำอย่างเดียวเท่านั้นเองที่ได้ผลิตอาหารสำหรับรับประทานขึ้นมาได้.....เทพนั้นได้รำพึงว่า เอาละ เมื่อได้เข้าไปสู่เทพทั้งหลาย (ไฟ น้ำ และอาหาร) โดยอาศัยอาตมันที่มีชีวิตอยู่นี้แล้ว ขอให้เราได้พัฒนานามรูปเถิด ขอให้เราได้ทำนามและรูปแต่ละอย่างให้เป็นไตรมิตรเถิด ดังนั้น เทพนั้นเมื่อได้เข้าไปสู่เทพทั้งสามเหล่านั้น โดยอาศัยอาตมันที่มีชีวิตอยู่นี้แล้วก็ได้พัฒนานามรูป...และได้ทำให้นามและรูปแต่ละอย่างเป็นไตรมิตร”
“เจ้าจงเอาผลมะเดื่อจากที่นั่นมาให้พ่อซิ”
“นี่ครับพ่อ”
“ผ่ามันออกไปซิ”
“เจ้าเห็นอะไรในผลมะเดื่อนั้นบ้าง?”
“มีเมล็ดเล็ก ๆ อยู่มากมายเหลือเกินพ่อ”
“จงผ่าเมล็ดมะเดื่อนั้นสักเมล็ดหนึ่งซิ”
“ผ่าแล้วพ่อ”
“เจ้าเห็นอะไรบ้าง?”
“ไม่เห็นมีอะไรเลยพ่อ”
“ถูกแล้วลูกรักของพ่อ มันเป็นแก่นแท้ที่ละเอียดซึ่งเจ้ามองไม่เห็น แต่จากต้นมะเดื่อใหญ่นี้ก็เกิดมาจากแก่นแท้นั่นเองแหละลูกรัก จงเชื่อเถิดพ่อเถิดลูก ว่ามันเป็นแก่นแท้ที่ละเอียดลึกซึ้ง โลกนี้ก็มีแก่นแท้นั่นแหละเป็นอาตมัน แก่นแท้นั่นแหละเป็นสัต แก่นแท้นั่นแหละเป็นอาตมัน นั้นแหละเป็นตัวเจ้าละ เศวตเกตุ”[14]
จากข้อความสนทนาข้างต้น ทำให้เราได้มองเห็นแนวทางในการอธิบายถึงการอุบัติขึ้นของสรรพสิ่ง โดยอาศัยรากฐานเดียวกันคืออาตมัน ประโยคสนทนาสุดท้ายที่พ่อสั่งให้ลูกชายผ่าผลมะเดื่อ สะท้อนให้เห็นแนวคิดเรื่องอะตอมในฐานะเป็นหน่วยย่อยซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกได้อีกว่า แนวคิดดังกล่าวนี้ ได้ล้ำหน้าโลกตะวันตกมาก
[2] ในหนังสือ ปรัชญาอินเดีย : ประวัติและลัทธิ ของสุนทร ณ รังสี อ้างมุกติโกปนิษัทว่ามีอุปนิษัท จำนวน ๑๐๘ อุปนิษัท และอ้างตัวเลขว่า ปัจจุบันมีมากถึง ๒๐๐ อุปนิษัท, ดูรายละเอียด หน้า ๒๘. ทำนองเดียวกันกับในหนังสือ A Critical Survey of Indian Philosophy ของDr.Chandradhar Sharma, ก็ระบุตัวเลขโดยอ้างมุกติโกอุปนิษัทว่ามี ๑๐๘ เช่นเดียวกัน, ดูหน้า ๑๗.
[4] รศ. ดร.จำลอง สารพัดนึก. ประวัติวรรณคดีสันสกฤต ๑. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๖ อ้างในhttp://th.wikipedia.org/wiki<เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔>